การตลาด คำจำกัดความ การนำเสนอขายสินค้า และเทคนิคการตลาดขั้นพื้นฐาน

การตลาด คำจำกัดความ การนำเสนอขายสินค้า และเทคนิคการตลาดขั้นพื้นฐาน

การตลาด เกิดขึ้นเพราะมนุษย์รู้จักการแลกเปลี่ยน การที่เราจะได้รับความพึงพอใจในการแลกเปลี่ยนใดๆ เราต้องเป็นผู้ที่สร้างความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ผู้ที่เรามุ่งจะแลกเปลี่ยน โดยคำว่าสูงสุด หมายถึงเหนือกว่าคู่แข่งรายอื่นๆ ทั้งหมด เมื่อกลุ่มเป้าหมายประเมินว่า เราสามารถสร้างความพึงพอใจให้เขาได้สูงสุด เขาก็ย่อมเลือกเรา หรือยอมจ่ายสิ่งแลกเปลี่ยนให้เราเหนือกว่ารายอื่น

คำจำกัดของคำว่า Marketing

สมาคมการตลาดแห่งสหรัฐอเมริกา ได้ให้คำจำกัดของคำว่า Marketing ไว้ดังนี้ การตลาด คือ การกระทำกิจกรรมต่างๆ ในทางธุรกิจที่มีผลให้เกิดการนำสินค้า หรือบริการจากผู้ผลิตไปสู่ผู้บริโภคหรือผู้ใช้บริการนั้นๆ ให้ได้รับความพึงพอใจ ขณะเดียวกัน ก็บรรลุวัตถุประสงค์ของกิจการ

องค์ประกอบของการตลาด

  1. มีสิ่งที่จะโอนเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ คือ สินค้าหรือบริการ
  2. มีตลาด คือ ผู้ชื้อที่ต้องการซื้อสินค้าหรือบริการ
  3. มีผู้ขายสินค้าหรือบริการ
  4. มีการแลกเปลี่ยน

หลักการตลาด 4P

การวางแผนการตลาดโดยใช้ 4P กลยุทธ์ทางการตลาดนั้นมีอยู่มากมาย แต่ที่เป็นที่รู้จักและเป็นพื้นฐานที่สุดก็คือการใช้ 4P (Product Price Place Promotion) ซึ่งหลักการใช้คือการวางแผนในแต่ละส่วนให้เข้ากัน และเป็นที่ต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่เราเลือกเอาไว้ให้มากที่สุด ในบางธุรกิจอาจจะไม่สามารถปรับเปลี่ยนทั้ง 4P ได้ทั้งหมดในระยะสั้นก็ไม่เป็นไรเพราะสามารถค่อยๆ ปรับกลยุทธ์จนได้ส่วนผสมทางการตลาดได้เหมาะสมที่สุด

Product / Service

Product คือ สินค้าหรือบริการ ที่เราจะเสนอให้กับลูกค้า แนวทางการกำหนดตัว product ให้เหมาะสมก็ต้องดูว่ากลุ่มเป้าหมายต้องการอะไร เช่น ต้องการบริการดูแลระบบคอมพิวเตอร์ภายในองค์กร โดยไม่สนเรื่องพนักงานประจำ ไม่สนการเข้าทำงานในสำนักงาน แต่ขอให้ดูแลแก้ไขปัญหาได้ก็พอ เราก็ต้องทำตามที่ลูกค้าต้องการ โดยทั่วไปแนวทางที่จะทำสินค้าให้ขายได้มีอยู่สองอย่างคือ

  1. สินค้าที่มีความแตกต่าง โดยการสร้างความแตกต่างนั้น จะต้องเป็นสิ่งที่ลูกค้าสามารถสัมผัสได้จริงว่าต่างกันและ ลูกค้าตระหนัก และชอบในแนวทางนี้ เช่นคุณสมบัติพิเศษ รูปลักษณ์ การใช้งาน ความปลอดภัย ความคงทนโดยกลุ่มตลาดที่เราจะจับ ก็จะเป็นตลาดที่ไม่มีการแข่งขันมาก (niche market)
  2. สินค้าที่มีราคาต่ำ การยอมลดคุณภาพในบางด้านที่ไม่สำคัญลงไป เช่น สินค้าที่ผลิตจากจีน จะมีคุณภาพไม่ดีนัก แต่พอใช้งานได้ แต่ถูกมากๆ หรือ สินค้าที่เลียนแบบแบรนด์ดังๆ ในซุปเปอร์สโตรต่างๆ จริงๆ แล้วสำหรับนักธุรกิจมือ ใหม่ควรเลือกในแนวทาง สร้างความแตกต่างมากกว่าการเป็นสินค้าราคาถูก เพราะหากเป็นด้านการผลิตแล้ว รายใหญ่ จะมีต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่ารายย่อย แต่หากเป็นด้านบริการ เราอาจจะเริ่มต้นที่ราคาถูกก่อน แล้วค่อยๆ หาตลาดที่รายใหญ่ไม่สนใจ

Price

Price คือ ราคา, การตั้งราคา เป็นสิ่งที่ค่อนข้างสำคัญในการตลาด แต่ไม่ใช่ว่า คิดอะไรไม่ออกก็ลดราคาอย่างเดียว เพราะการลดราคาสินค้า อาจจะไม่ได้ช่วยให้การขายดีขึ้นได้ หากปัญหาอื่นๆยังไม่ได้รับการแก้ไข การตั้งราคาในที่นี้จะเป็นการตั้งราคาให้เหมาะสมกับ ผลิตภัณฑ์ และกลุ่มเป้าหมายของเรา เช่น หากเราขายอาหารที่ตลาดนัด ราคาจะต้องถูกหน่อย แต่หากขายที่ห้างสรรพสินค้า หากตั้งราคาถูกไป กลุ่มที่เป็นเป้าหมายอยากให้ซื้ออาจจะไม่ซื้อ แต่คนที่ซื้ออาจจะเป็นคนอีกกลุ่มซึ่งมีน้อยกว่า และไม่คุ้ม ยิ่งไปกว่านั้นหากราคา และรูปลักษณ์สินค้าไม่เข้ากัน ลูกค้าก็จะเกิดความข้องใจและอาจจะกังวลที่จะซื้อ เพราะราคาคือตัวบ่งบอกภาพลักษณ์ของสินค้าที่สำคัญที่สุด อย่างไรก็ตาม ในด้านการทำธุรกิจขนาดย่อม ราคาที่เราต้องการ อาจไม่ได้คิดอะไรลึกซึ้งขนาดนั้น แต่จะมองกันในเรื่องของตัวเลข ซึ่งจะมีวิธีกำหนดราคาดังนี้

  1. กำหนดราคาตามลูกค้า คือการกำหนดราคาตามที่เราคิดว่า ลูกค้าจะเต็มใจจ่าย ซึ่งอาจจะได้มาจากการทำสำรวจ หรือแบบสอบถาม
  2. กำหนดราคาตามตลาด คือการกำหนดราคา ตามคู่แข่งในตลาด ซึ่งอาจจะต่ำมากจนเราจะมีกำไรน้อยดังนั้นหาก เรา คิด ที่จะกำหนดราคาตามตลาด เราอาจจะต้องมานั่งคิดคำนวณย้อนกลับว่า ต้นทุนสินค้าควร เป็นเท่าไรเพื่อจะได้กำ ไร ตามที่ตั้งเป้า แล้วมาหาทางลดต้นทุนลง
  3. กำหนดราคาตามต้นทุน+กำไร วิธีนี้เป็นการคำนวณ ว่าต้นทุนของเราอยู่ที่เท่าใด แล้วบวกค่าขนส่ง ค่าแรงของเรา บวกกำไร จึงได้มาซึ่งราคา แต่หากราคาที่ได้มาสูงมาก เราอาจจำเป็นต้องมีการทำประชาสัมพันธ์ หรือปรับภาพลักษณ์ ให้เข้ากับราคานั้น

Place

Place คือ วิธีการนำสินค้าไปสู่มือของลูกค้า หากเป็นสินค้าที่จะขายไปหลายๆ แห่ง วิธีการขายหรือการกระจายสินค้าจะมีความสำคัญมาก ขึ้นอยู่กับว่า สินค้าของท่านคือ อะไร และกลุ่มเป้าหมายท่านคือใคร เช่น สินค้าคุณภาพสูงหรูหราราคาแพง ควรจำกัดการขายไม่ให้มีมากเกินไป เพราะอาจจะทำให้เสียภาพลักษณ์ได้ สิ่งที่เราควรจะคำนึงอีกอย่าง คือต้นทุนการกระจายสินค้า เช่นการขายสินค้าใน Modern Trade หรือ ห้างสรรพสินค้า อาจจะ กระจายได้ทั่วถึง แต่อาจจะมีต้นทุนที่สูงกว่า แต่หากลองทำการตลาดออนไลน์กับ 1Belief เจาะจงกลุ่มเป้าหมาย แบบนี้อาจได้ผลและใช้ต้นทุนน้อยกว่า หากจะกล่าวถึงธุรกิจที่เป็นการขายหน้าร้าน Place ในที่นี้ก็คือ ทำเล ซึ่งก็ควรเลือกที่ ให้เหมาะสมกับสินค้าของเรา อย่างตลาดนัดวันหยุด กับห้างสรรพสินค้าติดแอร์ จะมีกลุ่มคนเดินที่ต่างออกไป ลักษณะสินค้าและราคา ก็ไม่เหมือนกัน

Promotion

Promotion คือ การนำเสนอคุณสมบัติสินค้า การบอกลูกค้าถึงลักษณะสินค้าของเรา การโฆษณาในสื่อต่างๆ หรือการทำกิจกรรม ที่ทำให้คนมาซื้อสินค้าของเรา เช่น การทำการลดราคาประจำปี หากจะพูดในแง่ของธุรกิจขนาดย่อม การโฆษณาอาจจะเป็นสิ่งที่เกินความจำ เป็นเพราะจะต้องใช้เงิน จะมากหรือน้อยก็ ขึ้นกับ ช่องทางที่เราจะใช้ ที่ได้ผลและอาจจะฟรีคือ สื่ออินเตอร์เนตผ่านทาง Search Engine ซึ่งมีผู้ใช้เพิ่มจำนวนขึ้นมากในแต่ละปี หรือหากงบน้อย อาจเลือกโฆษณาในสื่ออื่นๆ ที่ราคาถูก เช่น ใบปลิว โปสเตอร์ หากเป็นสื่อท้องถิ่นก็จะมี รถแห่ วิทยุท้องถิ่น หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น วิธีในการเลือกสื่อ นอกจากจะดูเรื่องค่าใช้จ่าย แล้วควรดูเรื่องการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย เช่นหากจะโฆษณาให้กลุ่มผู้ใหญ่ โดยเลือก สื่ออินเตอร์เนต ก็อาจจะเลือก เวบไซต์ที่ผู้ใหญ่เล่น ไม่ใช้เวบที่วัยรุ่นเข้ามาคุยกัน เป็นต้น

กลยุทธ์การตลาดแบบ 4C

เนื่องด้วยพฤติกรรมในการเลือกและซื้อสินค้าหรือบริการของผู้บริโภคได้เปลี่ยนไปเป็นอย่างมาก จึงได้มีการพัฒนากลยุทธ์ทางการตลาดขึ้นมาใหม่ เพื่อให้สามารถตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคได้มากขึ้นและตรงประเด็นที่สุด จนเกิดเป็นกลยุทธ์การตลาด 4C ซึ่งประกอบไปด้วย

  • Consumer ความต้องการของผู้บริโภค ต้องรู้ว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องการอะไร เพื่อจะได้ผลิตสินค้าหรือบริการออกมาได้อย่างตรงกับความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น
  • Cost ต้นทุนของผู้บริโภค มีความสัมพันธ์กับการตั้งราคาสินค้า ในการตั้งราคาสินค้าจึงควรคำนึงถึงต้นทุนและกำลังซื้อของผู้บริโภคมากกว่าต้นทุนการผลิต แต่ราคาก็ต้องไม่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตจนทำให้ขาดทุน
  • Convenience ความสะดวกในการซื้อ คำนึงว่าลูกค้ามีความสะดวกในการซื้อจากช่องทางไหนบ้าง ซึ่งอาจทำการเพิ่มช่องทางในการซื้อให้กับลูกค้ามากขึ้น
  • Communication การสื่อสาร หากมีการสื่อสารที่ดีระหว่างผู้ขายและลูกค้า ก็จะทำให้ลูกค้ารู้สึกประทับใจและเกิดความเชื่อถือในสินค้ามากขึ้น เป็นการเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าให้มากขึ้นไปอีก

โดยกลยุทธ์การตลาดแบบ 4C ได้มีการออกแบบและพัฒนาเพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในยุคไอทีมากที่สุด แต่ในขณะเดียวกันก็ยังสามารถใช้ได้กับการขายสินค้าโดยทั่วไปอีกด้วย จึงเป็นกลยุทธ์การตลาดที่กำลังได้รับความนิยมและแพร่หลายมาก

การตลาดแบบ 3C

เนื่องจากทุกวันนี้ผู้บริโภคสามารถได้รับข่าวสารได้จากทุกที่ ทุกเวลาและรวดเร็วมาก ดังนั้นการทำการตลาดจึงต้องนำหลักการที่มีความทันสมัยเข้ามาใช้ด้วย ซึ่งก็คือหลัก 3C นั่นเอง โดยหลักการดังกล่าวก็มีดังนี้

  1. Customer Share เป็นการทำการตลาดที่จะมุ่งเพิ่มส่วนแบ่งของผู้บริโภคเป็นหลัก เพื่อให้ลูกค้าที่เคยใช้บริการหรือซื้อสินค้าไปแล้วยังคงติดตามและกลับมาซื้อหรือใช้บริการอีกครั้ง ซึ่งจะใช้วิธีการเสนอสินค้าที่หลากหลายให้ลูกค้ามีตัวเลือกมากขึ้น
  2. Customization เป็นการเน้นการขายสินค้าและบริการแบบสนองความต้องการของลูกค้าเฉพาะบุคคล มากกว่าการขายโดยเน้นลูกค้าแบบกว้างๆ ซึ่งจะทำให้ขายได้ดีและรวดเร็วกว่า
  3. Customer Relationship Management (CRM) เป็นการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าเพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายธุรกิจและทำกำไรให้สูงขึ้น โดยจะเน้นการสร้างสัมพันธ์กับลูกค้าที่มีศักยภาพเป็นหลัก และมีการทำกิจกรรมทางการตลาดเพื่อดึงดูดความสนใจของลูกค้าให้มากขึ้นด้วย

การตลาดแบบ 2I

  1. Integration การทำการตลาดแบบรวมเข้าด้วยกัน ซึ่งหมายถึง การที่ผู้ขายนำข้อมูลของลูกค้ามากระจายให้กับทุกแผนกในบริษัทได้ทำความเข้าใจและทราบข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้ามากขึ้น ทำให้เมื่อมีลูกค้าติดต่อเข้ามาไม่ว่าแผนกไหนก็สามารถตอบคำถามและทำการตกลงซื้อขายกับลูกค้าได้เลย โดยระบบนี้จะสามารถตอบสนองการทำการตลาดแบบตัวต่อตัวได้ดีที่สุด
  2. Interaction การทำการตลาดแบบตอบโต้ ซึ่งหมายถึง การที่ผู้ขายทำการสนทนาตอบโต้กับลูกค้าโดยตรงและมีความรวดเร็วโดยใช้โซเชียลและอินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางในการติดต่อ ทั้งยังเป็นการทำการตลาดแบบเฉพาะบุคคลที่จะทำให้เข้าใจถึงความต้องการของลูกค้ามากขึ้น

4F การตลาดแบบไทย

4F เป็นอีกหนึ่งหลักการตลาด ที่นักการตลาดจะต้องคำนึงถึงเพื่อการทำการตลาดที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว โดยสรุปเกี่ยวกับหลักการ 4F ได้ดังนี้

  1. Face (หน้าตา) คือกลยุทธ์ทางการตลาด ที่จะทำให้ลูกค้ารู้สึกภูมิใจและรู้สึกว่าตนเป็นคนสำคัญ ซึ่งจะทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการมากขึ้น ทั้งยังหมั่นติดตามและกลับมาใช้บริการบ่อยๆ อีกด้วย โดยส่วนใหญ่ก็จะมีการนำเรื่องของหน้าตาเข้ามาเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจซื้อของลูกค้า เช่น คนที่มีฐานะดีก็จะได้นั่งเครื่องบินชั้นพิเศษ หรือคนที่ใช้สินค้าแบรนด์เนมก็จะได้รับอภิสิทธิ์ที่เหนือกว่า เป็นต้น
  2. Friend (เพื่อน) เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดในลักษณะแบบเพื่อนแนะนำเพื่อน เพราะจากพฤติกรรมของคนไทยโดยทั่วไปแล้ว มักจะชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่มและมีการใช้สินค้า บริการหรือให้ความสนใจในสิ่งที่คล้ายคลึงกันกับคนในกลุ่มเดียวกัน ดังนั้นจึงสันนิษฐานได้ว่า เมื่อมีคนใดใช้สินค้าหรือบริการใด ก็จะมีการบอกต่อและสมาชิกคนอื่นๆ ก็มีแนวโน้มที่จะมาใช้สินค้านั้นด้วยนั่นเอง นี่จึงเป็นอีกกลยุทธ์สำคัญที่นักการตลาดจะขาดไม่ได้
  3. Family (ความรัก) เพราะคนส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับการทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัวมากกว่า ดังนั้นการทำการตลาดจึงต้องมุ่งเน้นต่อการจัดแคมเปญแบบครอบครัวเป็นหลัก เช่น แจกตั๋วฟรีเที่ยวต่างประเทศทั้งครอบครัว หรือการจัดงานเลี้ยงที่มีการเชิญทั้งลูกค้าและครอบครัวของลูกค้าด้วย แบบนี้จะสามารถเรียกความสนใจของลูกค้าได้ดีกว่าและเป็นการสร้างทัศนคติที่ดีต่อบริษัทและลูกค้า
  4. Fortune (โชค) โชคลาง เป็นความเชื่อที่คนไทยส่วนใหญ่ให้ความสำคัญอยู่เสมอ และมีการนำมาใช้ปฏิบัติให้เห็นกันอยู่ในปัจจุบันมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการแต่งงาน ที่จะต้องหาฤกษ์ที่เหมาะสมก่อน การซื้อรถคันใหม่ที่จะต้องดูฤกษ์ยาม ดูสีรถที่ถูกโฉลกและต้องมีการเจิมรถเพื่อเป็นสิริมงคลด้วย หรือความเชื่อในการใส่เสื้อสีต่างๆ ในแต่ละวันเพื่อเสริมดวงและความสำเร็จ เพราะฉะนั้นนักการตลาดจึงไม่ควรมองข้ามเด็ดขาด ไม่ว่าตนเองจะเชื่อในโชคลางหรือไม่ก็ตาม เพราะนี่ถือเป็นอีกหนึ่งจุดขายที่จะช่วยเรียกความสนใจของลูกค้าและทำยอดขายได้ดียิ่งขึ้น และหากพนักงานขายมีความรู้เรื่องโชคลางหรือการทำนายอยู่บ้าง ก็จะยิ่งดึงดูดลูกค้าได้มากกว่าเดิม

อย่างไรก็ตาม หลักการ 4F ดังกล่าวนี้มีขึ้นเพื่อให้ผู้ขายได้เน้นความสำคัญในการเจาะลึกหรือเข้าถึงข้อมูลลูกค้าให้ได้มากที่สุด เพื่อจะได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับความต้องการของลูกค้าและสามารถทำการตลาดได้อย่างตรงเป้าและมีโอกาสที่จะชนะมากขึ้น

ความสำคัญของการตลาด

การตลาดมีความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต และยกระดับความเป็นอยู่ของมนุษย์ ในสังคม ทำให้เกิดการพึ่งพาอาศัยกันอย่างเป็นระบบในสังคมมนุษย์แต่ละคน สามารถประกอบ อาชีพที่ ตนเองถนัดและได้ใช้ความรู้ความสามารถของแต่ละบุคคลได้ อย่างเต็มกำลังความสามารถ และการตลาดมีบทบาทอย่างใหญ่หลวงต่อความเจริญเติบโต และพัฒนาการทางเศรษฐกิจของ ประเทศ เนื่องจากการตลาดเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการวิจัย และพัฒนาหาสิ่งแปลกใหม่ มาสนองความ ต้องการของตลาดและสังคม ทำให้ผู้บริโภคมีโอกาส เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ต้องการได้หลายทางและ ผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบสนองความต้องการ สร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้บริโภค จึงมีผลทำให้เกิด การจ้างงาน เกิดรายได้กับแรงงาน และธุรกิจ ทำให้ประชาชน มีกำลังการซื้อ และสามารถสนอง ความต้องการในการบริโภค ซึ่งทำให้ มาตรฐาน การครองชีพของบุคคล ในสังคมมีระดับสูงขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

  1. การตลาดเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน การดำเนินการตลาดของธุรกิจจะทำให้ผู้ผลิตกับผู้บริโภคเข้ามาใกล้กัน และสร้างความพึงพอใจให้กับผู้บริโภคด้วยการเสนอผลิตภัณฑ์ ที่ตรงต่อความต้องการของผู้บริโภค จนทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนในระดับผู้ซื้อและผู้ขายเกิดความพึงพอใจ การตลาดยังไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือที่สร้างความพึงพอใจให้กับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้บริโภคเกิดความซื่อสัตย์ภักดีต่อผลิตภัณฑ์ ทำให้ผู้บริโภคกลับมาใช้ หรือซื่อซ้ำเมื่อมี ความต้องการ
  2. การตลาดเป็นตัวเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของผลิตภัณฑ์กับผู้บริโภค การดำเนินการทางการตลาดทำให้ผู้เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ สามารถตอบสนองและสร้างความพึงพอใจให้กับผู้บริโภคได้ ด้วยการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ให้สอดคล้องกับภาวการณ์ สถานภาพ ของผู้บริโภคด้วยการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ในปริมาณ ในเวลา ในสถานที่ที่ผู้บริโภคต้องการ ในราคา ที่ผู้บริโภคมีกำลังการซื้อ และโอนความเป็นเจ้าของได้ การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่าง ผู้เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์กับผู้บริโภค นอกจากจะดำเนินการทางการตลาด ให้เกิดการเชื่อมโยงสัมพันธ์กันในเรื่องดังกล่าว สิ่งที่สำคัญจะต้องกระทำอีกประการหนึ่งก็คือ การสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภค
  3. การตลาดเป็นตัวผลักดันให้มีการพัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ แนวคิด ของการตลาด ในการมุ่งสนองความต้องการและสร้างความพึงพอใจให้กับผู้บริโภค และรับผิดชอบต่อสังคม ผลักดันให้ผู้ผลิตต้องพัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ ให้ตรงต่อความต้องการ และสร้างความพึงพอใจให้กับผู้บริโภค ตลอดจนจูงใจผู้บริโภคด้วยการเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อยู่เสมอ ในระบบการตลาดเสรี มีการแข่งขันกันมากมาย การสร้างความพึงพอใจและจูงใจผู้บริโภค จึงเป็นแรงผลักดันให้มีการพัฒนาปรับปรุง ผลิตภัณฑ์เพื่อการแข่งขัน
  4. การตลาดเป็นกลไกในการเสริมสร้างระบบเศรษฐกิจ การก่อให้เกิดการบริโภคและการพึ่งพากันอย่างเป็นระบบมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กับระบบเศรษฐกิจทั้งระบบ การสร้างความต้องการและการสนองความต้องการในการบริโภค ผลิตภัณฑ์ทำให้เกิดการไหลเวียนในระบบเศรษฐกิจ เกิดการจ้างงาน เกิดรายได้ เกิดการบริโภค และเกิดการใช้แรงงาน ซึ่งจะมีการพึ่งพากันและเชื่อมโยงไหลเวียนตามลำดับอย่างเป็นระบบ จะทำให้การดำรงชีวิต ของมนุษยชาติในสังคมอยู่ในระดับที่มีการกินดีอยู่ดี มีความเป็นอยู่ อย่างเป็นสุขโดยทั่วกัน

การขายสินค้าด้วยการใช้พนักงานขาย

การขายสินค้าในรูปแบบนี้ จะเป็นการขายทางตรงด้วยการให้พนักงานขายนำเสนอสินค้าแก่ลูกค้าแบบตัวต่อตัว ซึ่งนอกจากสินค้าจะต้องมีความน่าสนใจและมีคุณภาพแล้ว พนักงานขายเองก็จะต้องมีความสามารถเฉพาะตัวที่จะทำให้ลูกค้าเกิดความสนใจและตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการในทันที การขายโดยใช้พนักงานขายนั้น จะช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อลูกค้าได้ ซึ่งจะทำให้ลูกค้ารู้สึกอยากกลับมาใช้บริการอีก แต่พนักงานขายก็จะต้องมีความสามารถแบบรอบด้านและสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้กับลูกค้าได้อย่างชาญฉลาด

การตลาดทางตรง (Direct Marketing)

การติดต่อสื่อสารเพื่อทำการขายสินค้ากับเป้าหมายโดยตรง โดยอาจติดต่อผ่านทางโทรศัพท์มือถือ การส่งจดหมายหรือช่องทางใดก็ได้ ซึ่งการติดต่อสื่อสารดังกล่าว ก็จะต้องทำให้นักการตลาดสามารถวัดผลการตอบสนองจากผู้บริโภคได้ดี

รูปแบบของสื่อที่ใช้ในการตลาดทางตรง

รูปแบบของสื่อที่มักจะถูกนำมาใช้ในการตลาดทางตรง สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

  1. การใช้สื่อโดยตรง ก็คือการใช้สื่อในการติดต่อโดยตรงไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เลือกไว้แล้ว โดยคาดว่ากลุ่มเป้าหมายนี้น่าจะมีความต้องการในสินค้าและบริการมากที่สุด และคาดว่าน่าจะได้รับการตอบกลับสูง ซึ่งนิยมติดต่อผ่านทาง โทรศัพท์ ไปรษณีย์และคอมพิวเตอร์
  2. การใช้สื่อมวลชน เป็นการสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ได้รู้จักกับสินค้าและบริการก่อนจะตัดสินใจซื้อ โดยนิยมติดต่อผ่านทางวิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์และสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ

แนวทางการตลาดสำหรับคนยุคใหม่

1. การสื่อสารกับลูกค้า

การสื่อสารกับลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะช่วยเพิ่มการตัดสินใจซื้อของลูกค้า และสร้างความประทับใจให้กับกลุ่มลูกค้าได้ดี โดยสิ่งสำคัญที่สุดในการสื่อสารก็คือ การประชาสัมพันธ์และการโฆษณา แต่จะประชาสัมพันธ์และโฆษณาอย่างไรให้ลูกค้าไม่รู้สึกว่าเป็นอะไรที่น่าเบื่อ ก็เป็นหน้าที่ของนักการตลาด ที่จะคิดค้นรูปแบบการนำเสนอที่มีความเหมาะสม และต้องประเมินผลของการสื่อสารทุกครั้ง เพื่อจะได้นำมาพัฒนาและปรับปรุงให้เข้าถึงความต้องการของลูกค้ามากขึ้น

บริการของเรา: https://www.1belief.com/online-marketing/

2. การเจาะตลาดลูกค้าออนไลน์

เป็นการขายสินค้าและบริการผ่านทางระบบออนไลน์ ซึ่งวิธีนี้จะทำให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ทั่วโลกและสามารถขายได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่ต้องจ้างพนักงานจำนวนมากและไม่ต้องใช้ต้นทุนสูง แต่เนื่องจากการขายของออนไลน์มีคู่แข่งสูง สิ่งสำคัญที่นักการตลาดต้องทำเป็นอันดับแรก ก็คือการทำให้เว็บไซต์ของตนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางและมีลูกค้าเข้าชมเว็บไซต์มากที่สุด

3. กิจกรรมส่งเสริมการขาย

เป็นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย เพื่อกระตุ้นให้สินค้าเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็วและมียอดขายมากขึ้นภายในระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งก็จะต้องมีการลงทุนเล็กน้อย เพื่อแลกกับผลกำไรและผลลัพธ์ที่ดีในระยะยาว ดังตัวอย่างเช่น เครื่องดื่มอิชิตัน ที่มีกิจกรรมการเปิดฝา ส่ง sms ลุ้นโชค โดยจะกระตุ้นให้กลุ่มลูกค้าซื้อเครื่องดื่มอิชิตันไปดื่มกันมากขึ้น เพื่อเปิดฝาลุ้นโชคกันนั่นเอง โดยสำหรับใครที่โชคดีก็จะได้รับของรางวัลไป ซึ่งก็ถือเป็นการลงทุนที่ได้ผลตอบรับดีมาก และช่วยส่งเสริมการขายได้ดีอีกด้วย

4. กลยุทธ์ในการสร้างความพึงพอใจ

การสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าจะทำให้มีชัยไปกว่าครึ่ง เพราะกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่จะนิยมซื้อสินค้าหรือบริการของผู้ที่สามารถทำให้ตนรู้สึกพึงพอใจได้ ดังนั้นจึงควรเน้นการบริการที่ดีเยี่ยม ทั้งการบริการในการขายและหลังการขาย เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร แบรนด์สินค้า

5W 1H คำถามที่ต้องตอบให้ได้ ก่อนทำการตลาด

ก่อนจะเริ่มต้นทำการตลาดออนไลน์เพื่อให้บรรลุความสำเร็จมากที่สุด จะต้องเริ่มจากการวางแผนให้ดี ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการตอบคำถามทั้ง 6 ข้อดังต่อไปนี้ก่อน เพราะคำถามเหล่านี้จะช่วยให้มีความเข้าใจลูกค้ามากขึ้น และสามารถวางแผนการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดด้วยนั่นเอง

1. Who ใครคือลูกค้าของคุณ?

อันดับแรกจะต้องทำความเข้าใจก่อนว่าใครคือลูกค้าที่ต้องการขายสินค้าด้วย หรือกล่าวง่ายๆ ก็คือ สินค้าที่ต้องการจะขายนี้มีจุดประสงค์เพื่อขายให้ใคร กลุ่มลูกค้าเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง อายุเท่าไหร่ เพศอะไร รวมถึงข้อมูลอื่นๆที่จะช่วยให้สามารถเจาะกลุ่มลูกค้าได้ง่ายขึ้น โดยเมื่อรู้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว การวางแผนการตลาดก็จะไม่ยากเกินไปและไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นการเสียเปล่าเพราะทำการตลาดไม่ตรงกลุ่มอีกด้วย

2. What ลูกค้าของคุณต้องการอะไร?

เพราะคนแต่ละคนมีความต้องการที่แตกต่างกันไป ดังนั้นจึงต้องทำความเข้าใจก่อนว่ากลุ่มลูกค้าที่ต้องการจะเข้าถึงนั้นมีความชอบหรือความต้องการแบบไหน เพื่อจะได้เลือกสินค้าที่จะนำมาขายได้อย่างตรงจุดมากขึ้น รวมถึงการออกแบบสินค้าและการให้บริการก็สามารถปรับเปลี่ยนให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้เช่นกัน ดังนั้นการรู้ความต้องการของลูกค้าจึงถือเป็นข้อได้เปรียบอย่างหนึ่งของผู้ขายเลยทีเดียว

3. When ลูกค้ามักจะต้องการสินค้าและบริการของคุณเมื่อไหร่?

หากทราบว่าลูกค้าเป้าหมายมีความต้องการสินค้าและบริการที่ขายในช่วงเวลาไหนมากที่สุด จะทำให้วางแผนการขายได้ง่ายขึ้น เช่น ปืนฉีดน้ำ ลูกค้าจะมีความต้องการมากที่สุดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จึงเหมาะที่จะนำมาขายในช่วงก่อนวันสงกรานต์มากที่สุด นอกจากนี้ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย ซึ่งจะต้องทำความเข้าใจดู เท่านี้ก็สามารถวางแผนการทำการตลาดและการขายสินค้าได้ในจังหวะที่เหมาะสมมากขึ้น

4. Why ทำไมลูกค้าจึงต้องซื้อสินค้าของคุณ?

เป็นคำถามที่จะช่วยให้มองหาจุดเด่นของสินค้าที่ทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่เกิดความสนใจได้มากขึ้น ซึ่งก็มีความสำคัญไม่น้อยเลยทีเดียว นั่นก็เพราะในสังคมที่มีการแข่งขันทางการตลาดสูง จำเป็นต้องมองหาจุดเด่นหรือจุดขายให้กับสินค้าของตัวเอง ซึ่งอาจเป็นความแปลกใหม่ ดีไซน์ที่โดดเด่นหรือคุณภาพที่ดีกว่าสินค้าของคู่แข่ง โดยเมื่อได้คำตอบว่าทำไมลูกค้าจึงต้องซื้อสินค้าของคุณแล้ว ก็สามารถนำคำตอบนั้นมาเน้นจุดขายเพื่อเรียกลูกค้าได้นั่นเอง

5. Where กลุ่มลูกค้าของอยู่ที่ไหน?

การทำการตลาดที่ดี จะต้องหากลุ่มลูกค้าให้พบก่อน การระบุกลุ่มลูกค้า โดยเฉพาะตำแหน่งนั้น จะต้องระบุได้อย่างชัดเจน เช่น ประเทศ จังหวัด ภูมิภาค แม้กระทั่งสังคมและวัฒนธรรม เพื่อให้สามารถทำการโฆษณา ได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ลดงบประมาณที่ต้องใช้อย่างไร้ประโยชน์

6. How จะเข้าถึงลูกค้าได้อย่างไร?

เพราะการทำการตลาดจะเน้นความสำคัญด้วยการโปรโมทหรือประชาสัมพันธ์สินค้าให้กับลูกค้าเป็นหลัก ดังนั้นจึงต้องทราบก่อนว่าจะสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างไร เพื่อจะได้เลือกแผนการตลาดที่สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและง่ายดายยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การขายสินค้าที่เน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นคนวัยทำงาน แบบนี้จะต้องเลือกวิธีการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ให้มีเนื้อหาที่เป็นสาระ เกี่ยวกับช่วงวัยของกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด และพยายามหลีกเลี่ยงเนื้อหาที่เกี่ยวกับเด็กหรือช่วงวัยรุ่น เพราะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นวัยผู้ใหญ่หรือวัยทำงานจะไม่ค่อยสนใจเนื้อหาเหล่านี้นั่นเอง

อย่างไรก็ตามอีกหนึ่งสิ่งสำคัญก็คือ คุณภาพของสินค้า เพราะลูกค้าส่วนใหญ่จะเน้นที่คุณภาพของสินค้าเป็นหลัก แม้ว่าการบริการจะดีมากแค่ไหนก็ตาม

เกี่ยวกับเรา

บริษัท วันบีลีฟ จำกัด รับดูแลเครื่องคอมพิวเตอร์ ดูแลส่วนงาน IT ภายในบริษัท เรามีประสบการณ์ยาวนานกว่า 10 ปี ดำเนินการโดยทีมงานมืออาชีพ

ติดต่อเรา

Line ID: @1BELIEF